เรื่องห้องน้ำในพระราชวังแวร์ซายส์ ดร.โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ คณะวัฒนธรรมนานาชาติศึกษา มหาวิทยาลัยเทนรี ญี่ปุ่น เขียนไว้ตอนหนึ่งในบทความเรื่อง จาก น้ำ สู่ปฏิวัติฝรั่งเศส ตีพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฉบับกันยายน 2542 สรุปความดังนี้
มีเอกสารระบุว่า พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 กษัตริย์ฝรั่งเศส (1601-1643) เมื่อทรงประสูติและทรงรับการล้างบาปและรับศีลจุ่มแล้ว ไม่เคยลงสรงน้ำอีกเลยจนเมื่อพระองค์มีพระชนม์ได้ 7 พรรษา และมีผู้เริ่มล้างพระบาทให้พระองค์ก็เมื่อพระชนม์ได้ 6 พรรษาแล้ว ความกลัวการลงแช่ในน้ำก็ยังคงมีต่อไปในจิตสำนึกของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 17
ครั้งเดียวที่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (1643-1715) ทรงสรงน้ำในห้องประทับในพระราชวังแวร์ซายส์ คือเมื่อปี 1655 กลิ่นตัวของพระองค์รุนแรงขนาดผู้จงรักภักดีที่สุดของพระองค์พยายามหลีกเลี่ยงการเข้าเฝ้า และแม้ว่าแพทย์หลวงจะทูลแนะนำอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ตลอดชีวิตของพระองค์ทรงพอพระทัยกับการให้เช็ดพระพักตร์และโกนหนวดเคราสองวันครั้งด้วยการใช้สำลีจุ่มลงในแอลกอฮอล์เช็ดเท่านั้น
ไม่มีห้องอาบน้ำหรือห้องส้วมในพระ ราชวังแวร์ซายส์ พระ ราชวังแวร์ซายส์ซึ่งเริ่มสร้างตั้งแต่ปี 1624 ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 แล้วขยับขยายเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ 15 และที่ 16
ภายในตัวพระราชวังมีการจัดห้องเพื่อวางอ่างอาบน้ำทั้งของพระมหากษัตริย์ พระราชินีและพระสนมต่างๆ ส่วนใหญ่เพื่อการตั้งโชว์เป็นสำคัญ การลงอาบจริงๆ ยังน้อยครั้ง เพราะยิ่งน้ำจากท่อน้ำที่ส่งน้ำจากแม่น้ำแซนที่ปารีสเข้าไปถึงพระราชวังแวร์ซายส์จะน้อยลงๆ น่าประหลาดใจที่พระราชวังแวร์ซายส์มีน้ำจำนวนมหาศาลเพื่อความโอ่อ่า ความมีหน้ามีตาของพระมหากษัตริย์ แต่ไม่มีน้ำใช้เพื่อล้างหน้าล้างตาหรือเพื่อการอนามัยที่ดีของบุคคล
ในสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (1774-1791) จึงเริ่มมีการจัดทำห้องส้วมจริงๆ หนึ่งห้อง แยกออกจากห้องอื่นๆ รายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่มีในพระราชฐานคือมีเก้าอี้นั่งอุจจาระทั้งหมด 274 ตัว เก้าอี้นี้เจาะเป็นรูใหญ่ตรงกลางแผ่นที่นั่ง เป็นรูปทรงแบบแรกก่อนที่จะมีการผลิตโถส้วมแบบนั่งในสมัยต่อมา เมื่อจะทำธุระจะวางกระโถนรองรับไว้ใต้ที่นั่งตรงรูนั้น มีผ้ากองมหึมาที่ใช้สำหรับเช็ดตัวเช็ดก้น
อย่างไรก็ตาม ยังพออนุมานได้อีกทางว่า จากพระนิสัยไม่ทรงชอบอาบน้ำ อันสืบเนื่องมาจากความกลัวการลงแช่ในน้ำจากความเชื่อว่าการลงแช่อาบน้ำร้อนเป็นภัยต่อร่างกายและทำให้ประสาทเสื่อม ทั้งในศตวรรษที่ 16-17 ราคาน้ำใช้สูงขึ้นมาก การอาบการแช่น้ำยุติลง พร้อมการระบาดของกาฬโรค โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดสำหรับยุโรปทั้งทวีป เกิดขึ้นในปี 1346-1353 หยุดชะงักไปแล้วกลับระบาดขึ้นใหม่อีกในศตวรรษที่ 16 และ 17 บวกกับเมื่อทรงแก้ปัญหาขับถ่ายได้แล้วด้วยเก้าอี้นั่งอุจจาระ จึงไม่ทรงเห็นความจำเป็นของห้องน้ำ
ที่มา :: http://www.giggog.com/education/cat7/news6230/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น