วันจันทร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551

โอ-เน็ต

โอ-เน็ต (O-NET), เอ-เน็ต (A-NET), และ บี-เน็ต (B-NET) คือรูปแบบมาตรฐานการทดสอบความรู้ในระดับต่างๆ ของนักเรียนที่ดำเนินการโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรมหาชนและใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “National Institute of Educational Testing Service”

ระดับและวัตถุประสงค์ของการสอบ
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้กำหนดมาตรฐานการทดสอบทางการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ ตามวัตถุประสงค์ดังนี้

โอ-เน็ต (O-NET)
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Testing) หรือที่เรียกว่า O-NET เป็นการสอบความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้น (6 ภาคเรียน) ของชั้น ป. 3 ม. 3 และ ม. 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 โดยทำการทดสอบความรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ รวม 8 กลุ่ม
ผู้มีสิทธิ์สอบ ผู้กำลังจะจบชั้น ป. 3, ป. 6, ม. 3 และ ม. 6 เป็นการสอบออก
ช่วงเวลาสอบและจำนวนครั้งการสอบ เดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม ของทุกปี เป็นการสอบประจำปีอย่างถาวรตลอดไปและเป็นการสอบเพียง 1 ครั้งสำหรับผู้กำลังจะจบช่วงชั้นเท่านั้น
วิธีการสอบและค่าใช้จ่าย ผู้เป็นนักเรียนปกติไม่ต้องสมัครสอบ แต่นักเรียนเทียบเท่าต้องสมัครสอบ ไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายในการสอบ
ผู้จัดสอบ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

เอ-เน็ต (A-NET)
การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (Advance National Education Testing) หรือที่เรียกว่า A-NET ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า “” เป็นการสอบความรู้ขั้นสูง (6 ภาคเรียน) ทดสอบเฉพาะนักเรียนชั้น ม. 6 ที่ประสงค์จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐในระบบรับร่วมและรับกลาง จำนวนวิชาสอบ 11 วิชา
ผู้มีสิทธิ์สอบ ผู้กำลังเรียนหรือผู้จบชั้น ม. 6 ปกติหรือเทียบเท่าไปแล้ว
ช่วงเวลาสอบและจำนวนครั้งการสอบ การทดสอบแบบนี้จะมีเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้นคือเดือนมีนาคม ของทุกปี และสามารถเก็บคะแนนที่สอบไว้ได้ 2 ปี โดยใช้คะแนนที่ดีที่สุด การสอบจะมีเฉพาะช่วงรอยต่อของระบบเก่าและใหม่คือระหว่างช่วง พ.ศ. 2549 -2552 เท่านั้น
วิธีการสอบและค่าใช้จ่าย ผู้เข้าทดสอบต้องสมัครสอบและเสียค่าใช้จ่ายในการสอบวิชาละ 100 บาท
ผู้จัดสอบ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

บี-เน็ต (B-NET)
B-NET ย่อมาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า “Basic National Education Testing” เป็นการสอบความรู้ขั้นสูง (5 ภาคเรียน) เฉพาะนักเรียน ม. 6 ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐในระบบรับตรง ระบบโควต้า และระบบพิเศษ โดยมีวิชาสอบ 5 วิชา
ผู้มีสิทธิ์สอบ ผู้กำลังเรียนหรือผู้จบชั้น ม. 6 ปกติหรือเทียบเท่าไปแล้ว
ช่วงเวลาสอบและจำนวนครั้งการสอบ การทดสอบแบบนี้จะเริ่มมีการสอบครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 สำหรับมหาวิทยาลัยนเรศวรและบางโครงการของจุฬาลงกาสรณ์มหาวิทยาลัย สามารถเก็บคะแนนที่สอบไว้ได้ 2 ปี
วิธีการสอบและค่าใช้จ่าย ผู้เข้าทดสอบต้องสมัครสอบ และเสียค่าใช้จ่ายในการสอบวิชาละ 100 บาท
ผู้จัดสอบ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

สาระและมาตรฐานการเรียนรู้การสอบ โอ-เน็ต (O-NET) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้แบ่งกลุ่มสาระและมาตรฐานการเรียนรู้การสอบออกของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไว้ 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ 1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) วิทยาศาสตร์ 4) สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม 5) สุขศึกษาและพลศึกษา 6) ศิลปะ 7) การงานอาชีพและเทคโนโลยี 8) ภาษาต่างประเทศ โดยในแต่ละกลุ่มสาระจะมีมาตรฐานไว้ชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น: